บทวิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทย ปี 2565

ดัชนีผลผลิต-ส่งสินค้าหดตัวในอุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทย กับการหาโอกาสและปัจจัยที่ท้าทายต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกในอนาคต

อุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกในประเทศไทยยังคงเป็นที่ต้องการต่อการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทั้งทางการเกษตร การแพทย์ เวชภัณฑ์เครื่องสำอาง และอื่น ๆ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมในประเทศต่างก็ต้องผลิตให้เป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของคนในประเทศ แต่แนวโน้มตามสภาวะเศรษฐกิจโลกไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตพลาสติกในประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 รวมถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ทำให้ดัชนีผลผลิตและการส่งสินค้าหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลโดยกองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกอยู่ที่ระดับ 88.75 หดตัวร้อยละ 5.41 จากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัวร้อยละ 5.04 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยรวมซบเซา  ดัชนีผลผลิตที่หดตัวมากที่สุด ได้แก่ กระสอบพลาสติก ท่อและข้อต่อพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้าอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ดัชนีการส่งสินค้าอุตสาหกรรมพลาสติกอยู่ที่ระดับ 90.06 หดตัวร้อยละ 6.73 จากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัวร้อยละ 1.86 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ดัชนีการส่งสินค้าที่หดตัวมากที่สุด ได้แก่ กระสอบพลาสติก ท่อและข้อต่อพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ เป็นต้น

ดัชนีผลผลิต – ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีผลผลิต – ดัชนีการส่งสินค้า
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 อุตสาหกรรมพลาสติกมีปริมาณการส่งออกรวม 1,221.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.81 จากไตรมาสก่อนหน้า และขยายตัวร้อยละ 9.79 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกขยายสูงสุด ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์

มูลค่าการนำเข้าอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 อุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ 0.05 จากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัวร้อยละ 1.86 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

ปริมาณการส่งออก – การนำเข้า (ตัน)

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ไตรมาส 3 ปี 2565

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 3 ปี 2565 คาดว่าการผลิตจะชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการบางรายเริ่มให้ความสนใจยกเลิกบรรจุภัณฑ์ที่ยากต่อการรีไซเคิล ส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกี่ยวข้องลดลงตามความต้องการของผู้บริโภค

แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทย เมื่อต้องประสบกับปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนและวัตถุดิบ ดังนั้นผู้ประกอบอุตสาหกรรมควรจะมองหาโอกาสเพื่อที่จะดำเนินกิจการด้านอุตสาหกรรมพลาสติกต่อไป ดังนี้

1.การขยายตลาดะดับภูมิภาค โดยเฉพาะตลาดอาเซียนซึ่งเศรษฐกิจเติบโตดีและมีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน ทั้งยังมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศประกอบกับอุตสาหกรรมพลาสติกไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบจากการมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในประทศ จึงมีต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกต่ำกว่าอินโดนีเซียซึ่งผลิตเม็ดพลาสติกจากน้ำมันดิบ อีกทั้งไทยยังได้เปรียบด้านการขนส่ง โดย world Bank รายงานดัชนี Logistics Performance Index (LPI) ปี 2561 ได้คะแนน 3.41 เป็นรองเพียงสิงคโปร์ ที่ 4.00 สูงสุดในภูมิภาค

2.การเน้นผลิตภัณฑ์เฉพาะ (specialty products) มีคุณสมบัติสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาชิ้นพลาสติกสำหรับยานยนต์แห่งอนาคตหรือรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) การพัฒนาชิ้นส่วนพาสติกที่ใช้ในเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิเครื่องช่วยหายใจ (Respirator/Ventilator)

3.การผลิตพลาสติกจากวัสดุธรรมชาติ bio-plastic แทนพลาสติกจากเชื้อฟอสซิล (fossil Fuel/ Petroleum-based) ตามกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดขยะพลาสติก ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบ BCG (Bio, Circular, and Green economy) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน bio-plastic ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีต้นทุนสูงกว่าพลาสติกแบบ Petroleum-based ประมาณ 3 เท่า และมีคุณสมบัติบางประการด้อยกว่าพลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งการจัดการขยะ  bio-plastic ต้องใช้กระบวนการที่เหมาะสม ผู้ประการจึงต้องรีบปรับตัวเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ที่กำลังเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

4.พลาสติกคอมโพสิท (Composite plastics) ความต้องการใช้แนวโน้มเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ อากาศยาน และยานยนต์สมัยใหม่ ด้วยคุณสมบัติด้านคงทน แข็งแรง และน้ำหนักเบามาก จึงเหมาะกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความปลอดภัยสูงและมีมูลค่า อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องบินน้ำหนักเบา แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า และระบบรางรถไฟฟ้า โดยสมาคมไทยคอมโพสิทคาดว่าความต้องการใช้พลาสติกคอมโพสิทจะเพิ่มถึง 10 เท่า คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า

  •  แม้ว่าหลายบริษัทของการผลิตพลาสติกจะมองหาโอกกาสหรือพยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวกระโดดมากเพียงใด แต่ก็คงยังต้องพบกับปัญหามากมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การผันผวนราคาของน้ำมันดิบในตลาดโลก และนโยบายของรัฐที่ขัดต่อการผลิตพลาสติกบางประเภท ทำให้เกิดปัจจัยที่ท้าทายมากขึ้นเช่นกันนั่นก็คือ

1.ราคาเม็ดพลาสติกมีความผันผวนตามราคาน้ำมันดิบโลก โดยเฉพาะในช่วงขาขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น

2.การขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ทำให้ต้นทุนค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จึงอาจลดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก เมื่อเทียบกับค่าแรงของประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม

3.ภาครัฐกำหนดแผนจัดการขยะพลาสติก (ปี 2561-2573) เพื่อลด/เลิกใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastics) โดยปี 2562 กำหนดให่เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Capaseal) ถุงพลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ (ถุงพลาสติกแบบบางที่ผสมสารที่ก่อให้เกิดการแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้) และพลาสติกไมโครบีดหรืออนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก (Microbeads) ส่วนปี 2563 กำหนดให้ห้างสรรพสินค้าซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว รวมถึงรณรงค์ให้นำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่คิดเป็นสัดส่วน 60% ของพลาสติกใช้แล้วภายในปี 2564 สำหรับปี 2565 ให้เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน หลอด แก้วพาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แกล่องโฟมบรรจุอาหาร (Box 2)

4.นโยบายการเลิกใช้พลาสติก Single use ของสภาพยุโรป (EU) ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป และประกาศนโยบายให้มีการ recycle บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดภายในปี 2573 คาดว่าจะกระทบผู้ผลิตบรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทถุงและกระสอบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกไป (EU) มากที่สุด

  • หากมองทั้งโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือโอกาสที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกในรูปแบบชีวภาพ แบบ BCG เพื่อลดต้นทุนของการผลิต และจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ซึ่งอาจจะช่วยปรับดัชนีการส่งออกสินค้าให้ดีขึ้นได้ แต่ข้อเสียคือความท้าทายที่ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรมต้องเจอ ทั้งการผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการกำหนดนโยบายของรัฐที่กำหนดขึ้นมาซึ่งขัดต่อการผลิตสินค้าพลาสติกบางประเภท ทำให้ดัชนีการผลิตและการส่งออกในประเทศมีจำนวนลดลงเช่นกัน ถึงแม้ผู้ประกอบการจะต้องพบกับความท้าทายที่มากต่อการปิดกั้นการผลิตพลาสติกบางประเภท แต่ก็ควรจะมองโอกาสที่มากกว่าเพราะจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกในประเทศให้ดีได้ต่อไปในอนาคต

แหล่งที่มา

อุตสาหกรรมพลาสติกไทย 2565 ไตรมาสแรก ดัชนีผลผลิต-ส่งสินค้าหดตัว.(2565). สืบจาก

https://www.mreport.co.th/news/statistic-and-ranking/323-Plastic-Industry-in-Thailand-2022-Q1-Q2 ค้นเมื่อ วันที่ 13 ตุลาคม 2565

โอกาสและปัจจัยท้าทายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก.(2564). สืบจาก

https://www.krungsri.com/th/research/industry/industryoutlook/Petrochemicals/Plastics/IO/io-plastics-21 ค้นเมื่อ วันที่ 13 ตุลาคม 2565

บทวิเคราะห์สถานณ์การอุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทย ปี 2565