พลาสติกกลายเป็นวัสดุที่ถูกจับตามองมากที่สุด โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทั่วโลกเต็มไปด้วยกระแสความตื่นตัวเรื่องลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) รวมถึงข่าวสัตว์ทะเลที่ตายจากการบริโภคขยะพลาสติกในท้องทะเลเข้าไป ก็สร้างความสะเทือนใจจนทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มตระหนักและเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เริ่มลด ละการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหัวข้อนี้ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย จนทำให้พจนานุกรม Collins ยกให้คำว่า “Single-Use” กลายเป็นคำฮิตแห่งปี และในประเทศไทยของเรานั้นพลาสติกก็ถือเป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องของด้านการจัดการขยะในประเทศที่นับวันยิ่งทวีคูณความรุนแรงขึ้น โดยประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือปีละประมาณ 2 ล้านตัน พลาสติกส่วนใหญ่ที่พบจะมีการใส่สารเติมแต่งและไมโครพลาสติก (Microplastic) สารเหล่านี้ยากแก่การย่อยสลายและกลายเป็นขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม และสารเติมแต่งบางชนิดยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนในประเทศ ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นว่าควรมีการบริหารจัดการขยะพลาสติกจึงได้มีการวางแผนปฏิบัติการ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงกำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจำนวน 7 ชนิดภายในปี 2025 ซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกได้พิจารณาแผนปฏิบัติการลดและเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) จำนวน 7 ชนิด โดยวางเป้าหมายเป็นช่วงเวลา ระหว่างปี 2019-2025 ดังนี้

– ยกเลิกปี 2019 ประกอบด้วย

1. Cap seal ฝาน้ำดื่ม โดยปกติจะผลิตจากพลาสติก PVC ฟิล์ม 

2. ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารประเภท OXO ส่วนใหญ่มักจะผสมในพลาสติกประเภท HDPE และ LDPE

3. Microbead จากพลาสติก

– ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จะยกเลิกปี 2022 ประกอบด้วย

4. ถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติก LLDPE 

5. กล่องโฟมบรรจุอาหาร

– ในส่วนของพลาสติกที่จะยกเลิกในปี 2025 ได้แก่

6. แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

7. หลอดพลาสติก

ซึ่งทั้งกล่องโฟม แก้ว และหลอดพลาสติกบางส่วน ส่วนใหญ่จะผลิตจากพลาสติกประเภท polystyrene

     เมื่อรัฐบาลได้มีแผนปฏิบัติลดการใช้พลาสติก จึงกำหนดแผนขั้นตอนการดำเนินการหรือโรดแมปสู่สังคมไร้พลาสติก โดยเริ่มจากปี 2561 ที่มีการกำหนดให้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ ไมโครบีดที่ใช้ในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ผสมสารอ็อกโซ่ ต่อมาในเดือนมกราคมปี 2563 มีการกำหนดให้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastic – SUP) โดยขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีก และมีแผนจะยกเลิกการผลิตและใช้พลาสติกเพิ่มอีก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก โดยไทยได้ตั้งเป้าการลดขยะให้ได้ 0.73 ล้านตันภายในสิ้นปี 2565 เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน

 แล้วเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร ?


      เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกที่ประเทศทั่วโลกลงนามให้คำมั่นว่าจะร่วมกันบรรลุเป้าหมายในปี 2030 เป้าหมายที่จัดขึ้น มีแนวทางชัดเจนสำหรับทุกประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการพัฒนาประเทศ

                            เป้าหมาย SDGs 17 ข้อ ที่สหประชาชาติ ที่ทั่วโลกจะทำให้ได้ภายในปี 2030

พลาสติกในอนาคตกับแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในประเทศ